วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559

            เพลงดอกไม้ของชาติ



คำร้อง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
ทำนอง อาจารย์มนตรี ตราโมท
เนื้อเพลง
                        (สร้อย) ขวัญใจดอกไม้ของชาติ งามวิลาสนวยนาดร่ายรำ
            ขวัญใจดอกไม้ของชาติ งามวิลาสนวยนาดร่ายรำ
            เอวองค์อ่อนงาม ตามแบบนาฎศิลป์
            ชี้ชาติไทยเนาว์ถิ่น เจริญวัฒนธรรม
            (สร้อย) งานทุกสิ่งสามารถ สร้างชาติช่วยชาย
            ดำเนินตามนโยบาย สู้ทนเหนื่อยยากตรากตรำ

ความหมายของเพลง 
            ผู้หญิงไทยเปรียบเสมือนดอกไม้อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย การร่ายรำด้วยการแสดงออกอย่างอ่อนช้อย งดงามตามรูปแบบความเป็นไทยแสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านวัฒนธรรมของคนไทย นอกจากผู้หญิงจะดีเด่นทางด้านความงามแล้วยังมีความอดทน สามารถทำงานบ้าน ช่วยเหลืองานผู้ชายหรือแม้งานสำคัญ ๆระดับประเทศก็สามารถช่วยเหลือได้เป็นอย่างดีไม่แพ้ผู้ชาย
อธิบายท่ารำ

ท่ารำยั่ว มือซ้ายตั้งวงล่าง มือขวาจีบส่งหลัง เอียงศีรษะด้านเดียวกับวง ชาย-หญิงหันหน้าเข้าหากัน โดยชายก้าวเท้าขวาออกนอกวงรำก่อนคำร้องเล็กน้อย หญิงถอยเท้าขวาออกนอกวงรำเล็กน้อยก้าวซ้ายเป็นจังหวะที่ ๑ ก้าวขวาเป็นจังหวะที่ ๒ แล้วจรดส้นเท้าซ้ายสองครั้งเป็นจังหวะที่ ๓ และ ๔ เท้าซ้ายถอยหลัง เป็นจังหวะที่ ๕ พร้อมทั้งเปลี่ยนเป็นมือขวาตั้งวงต่ำ มือซ้ายจีบส่งหลัง ศีรษะเอียงขวา รำเช่นนี้ไปจนจบเพลง
ตัวอย่าง 
ขอบคุณที่มา
เพลง  ดวงจันทร์วันเพ็ญ 

 คำร้อง  ท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลสงคราม
 ทำนอง   อาจารย์มนตรี  ตราโมท
เนื้อร้อง
                                                            ดวงจันทร์วันเพ็ญ         ลอยเด่นอยู่ในนภา
                                                        ทรงกลดสดสี                           รัศมีทอแสงงามตา
                                            แสงจันทร์อร่าม                        ฉายงามส่องฟ้า
                                            ไม่งามเท่าหน้า                         นวลน้องยองใย
                                                        งามเอยแสนงาม          งามจริงยอดหญิงชาติไทย
                                            งามวงพักตร์ยิ่งดวงจันทรา       จริตกิริยานิ่มนวลละไม
                                            วาจากังวาน                             อ่อนหวานจับใจ
                                            รูปทรงสมส่วนยั่วยวนหทัย       สมเป็นดอกไม้ขวัญใจชาติเอย

ความหมาย  พระจันทร์เต็มดวงที่ลอยอยู่บนท้องฟ้านั้นช่างดูสวยงาม เพราะเป็นพระจันทร์ทรงกลด คือมีแสงเลื่อมกระจายออกรอบดวงจันทร์ทั้งดวง แต่ถึงจะงามอย่างไรก็ยังไม่เท่าความงามของดวงหน้าหญิงสาว ที่ดูผุดผ่องมีน้ำมีนวล อีกทั้งรูปร่างก็ดูสมส่วน กิริยาวาจาก็อ่อนหวานไพเราะ สมแล้วกับที่เปรียบว่าหญิงไทยนี้คือดอกไม้ของชาติไทยเรา
อธิบายท่ารำท่าแขกเต้าเข้ารัง , ผาลาเพียงไหล่ ท่าแขกเต้าเข้ารัง มือขวาจีบสูง มือซ้ายจีบอยู่ใต้ศอกขวา เท้าซ้ายแตะเท้าขวา เอียงซ้าย หมุนตัว ถอยเท้าขวาลงวางหลัง หันหน้ากลับที่เดิม ท่าผาลา มือขวาตั้งวง มือซ้ายแบหงายต่ำระดับเอว เอียงขวา ใช้เท้าซ้ายแตะเท้าขวา เอียงขวา
ตัวอย่าง

ขอบคุณที่มาhttp://www.openbase.in.th/node/3488

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559

เพลง คืนเดือนหงาย


 คำร้อง   จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร)
ทำนอง   อาจารย์มนตรี  ตราโมท
             
เนื้อร้อง 
                ยามกลางคืนเดือนหงาย         เย็นพระพายโบกพริ้วปลิวมา 
                เย็นอะไรก็ไม่เย็นจิต              เท่าเย็นผูกมิตรไม่เบื่อระอา 
                เย็นร่มธงไทยปกไปทั่วหล้า     เย็นยิ่งน้ำฟ้ามาประพรมเอย 



ความหมาย  เวลากลางคืน เป็นคืนเดือนหงาย มีลมพัดมาเย็นสบายใจ แต่ก็ยังไม่สบายใจเท่ากับการที่ได้ผูกมิตรกับผู้อื่น และที่ร่มเย็นไปทั่วทุกแห่งยิ่งกว่าน้ำฝนที่โปรยลงมา ก็คือการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเอกราช มีธงชาติไทยเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ร่มเย็นทั่วไป

อธิบายท่ารำ
ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง   แปลงมาจากท่าสอดสร้อยมาลาในเพลงงามแสงเดือน ท่าเตรียมโดยยืนเท้าชิดกัน มือซ้ายตั้งวงบน มือขวาจีบหงายที่ชายพก ศีรษะเอียงขวา  พอเริ่มเพลงมือขวาที่จีบหงายที่ชายพกโบกขึ้นไปตั้งวงบน โดยไม่ต้องสอดหรือม้วนมือ มือซ้ายลดวงลงแล้วพลิกข้อมือเป็นจีบหงายที่ชายพกเปลี่ยนมาเอียงซ้าย
ตัวอย่าง

ขอบคุณที่มา http://www.openbase.in.th/node/3486

เพลง รำมาซิมารำ



คำร้อง   จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร)
 ทำนอง   อาจารย์มนตรี  ตราโมท
เนื้อร้อง  
                                รำซิมารำ                     เริงระบำกันให้สนุก  
                ยามงานเราทำงานจริง ๆ   ไม่ละไม่ทิ้งจะเกิดเข็ญขลุก 
                ถึงยามว่างเราจึงรำเล่น     ตามเชิงเช่นเพื่อให้สร่างทุกข์ 
                ตามเยี่ยงอย่างตามยุค      เล่นสนุกอย่างวัฒนธรรม 
                เล่นอะไรให้มีระเบียบ        ให้งามให้เรียบจึงจะคมขำ 
                มาซิมาเจ้าเอ๋ยมาฟ้อนรำ    มาเล่นระบำของไทยเราเอย

ความหมาย  ขอพวกเรามาเล่นรำวงกันให้สนุกสนานเถิดในยามว่างเช่นนี้จะได้คลายทุกข์ ถึงเวลางานเราก็จะทำงานกันจริงๆ เพื่อจะได้ไม่ลำบาก และการรำก็จะรำอย่างมีระเบียบแบบแผนตามวัฒนธรรมไทยของเราแล้วจะดูงดงามยิ่ง
 อธิบายท่ารำ
ท่ารำส่าย      แขนทั้งสองตึงโดยมือซ้ายหงายระดับไหล่ มือขวาคว่ำอยู่ระดับเอว

มือซ้ายวาดแขนลงระดับเอว พร้อมกับพลิกมือขวาหงายขึ้นระดับไหล่ สลับกันเช่นนี้จนจบเพลง 

ตัวอย่าง 

ขอบคุณที่มา  http://www.openbase.in.th/node/3484

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เพลงชาวไทย


 คำร้อง    จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร)
 ทำนอง   อาจารย์มนตรี  ตราโมท
เนื้อเพลง
              ชาวไทยเจ้าเอ๋ย                ขออย่าละเลยในการทำหน้าที่
              การที่เราได้เล่นสนุก          เปลื้องทุกข์สบายอย่างนี้
              เพราะชาติเราได้เสรี           มีเอกราชสมบูรณ์
              เราจึงควรช่วยชูชาติ         ให้เก่งกาจเจิดจำรูญ
              เพื่อความสุขเพิ่มพูน         ของชาวไทยเรา เอย 
 ความหมาย  หน้าที่ที่ชาวไทยพึงมีต่อประเทศชาตินั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำ อย่าได้ละเลยไปเสีย  ในการที่เราได้มาเล่นรำวงกันอย่างสนุกสนาน ปราศจากทุกข์โศกทั้งปวงนี้ก็เพราะว่าประเทศไทยเรามีเอกราช ประชาชนมีเสรีในการคิดจะทำสิ่งใดๆ  ดังนั้น เราจึงควรช่วยกันเชิดชูชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป เพื่อความสุขยิ่งๆ ขึ้นของไทยเราตลอดไป
อธิบายท่ารำ
ท่าชักแป้งผัดหน้า       
จีบมือขวาลักษณะจีบปรกข้างระดับศีรษะ มือซ้ายวงหน้าอยู่ระดับปาก เอียงขวา
ลดแขนเลื่อนมือขวาลงมาอยู่ระดับอก ปล่อยจีบเป็นแบมือหงาย มือซ้ายจีบคว่ำ
มือซ้ายเลื่อนมาเป็นจีบปรกข้างด้านซ้าย ส่วนมือขวาตั้งวงหน้า เอียงซ้าย  
ลดแขนเลื่อนมือมาอยู่ระดับอก มือซ้ายปล่อยจีบเป็นแบหงาย มือขวาจีบคว่ำ
ทำท่าเช่นนี้สลับไปมาจนจบเพลง
ส่วนเท้าย่ำไปทุกจังหวะของเพลง เปลี่ยนมือทุกจังหวะที่ ๗


ตัวอย่าง

ขอบคุณที่มา http://www.openbase.in.th/node/3481

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เพลง งามแสงเดือน



เนื้อร้อง จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์)

ทำนอง อ. มนตรี ตราโมท

ท่ารำ สอดสร้อยมาลา


เนื้อเพลง

งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ

งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ

เราเล่นเพื่อสนุก เปลื้องทุกข์มิวายระกำ

ขอให้เล่นฟ้อนรำ เพื่อสามัคคีเอย


ความหมายของเพลง

ท้องฟ้าจะงดงามเมื่อพระจันทร์ส่องแสง ผู้หญิงก็งดงามหากได้รำอยู่ในวงรำ พวกเราละเล่นรำวงอย่างสนุกสนานไม่มีทุกข์ ละทิ้งความทุกข์ความไม่สบายใจออกไป การรำวงนี้ก็เพื่อให้เกิดความสามัคคี


อธิบายท่ารำ

งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า

เริ่มต้นด้วยมือซ้ายจีบหงายที่ชายพก มือขวาตั้งวงศีรษะเอียงทางซ้าย ค่อย ๆ สอดมือซ้ายออกไปแบหงายงอด้านข้าง มือขวาเดินลงมาอยู่ระดับวงกลาง เมื่อมาถึงคำว่า “หล้า” ให้ปล่อยจีบซ้าย (อย่าเพิ่งปล่อยจีบก่อน)


งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ

ตรงคือว่า “งาม” ให้มือขวาที่ตั้งวงกลางอยู่นั้นเปลี่ยนเป็นจีบคว่ำทันที แล้วสอดมือซ้ายยกขึ้นค่อยๆ พลิกเป็นตั้งวง ให้พร้อมกับมือของจีบหงาย ศีรษะเอียงทางขวาตรงคำว่า “วงรำ”


เราเล่นเพื่อสนุก

เมื่อถึงคำว่า “เราเล่น” ให้รีบเดินมือผลัดจีบ เปลี่ยนเป็นจีบคว่ำมือขวา มือซ้ายแบหงายปลายนิ้วตกไว้ เมื่อถึงคำว่า “เพื่อสนุก” ก็สอดมือขวามาจีบหงายที่ชายพก มือซ้ายยกขึ้นเป็นวง ศีรษะเอียงทางขวา เท้าย่ำตามจังหวะฉิ่ง


เปลื้องทุกข์มิวายระกำ

ย่ำเท้าโดยไม่เปลี่ยนท่า


ขอให้เล่นฟ้อนรำ

เมื่อถึงคำว่า “ขอให้” ก็รีบเดินมือ ผลัดจีบ เปลี่ยนเป็นจีบคว่ำมือซ้าย มือขวาแบหงายปลายนิ้วตก และเมื่อถึงคำว่า “เล่นฟ้อนรำ” ก็สอดมือซ้ายมาจีบหงายไว้ที่ชายพก มือขวายกขึ้นเป็นวง ศีรษะเอียงทางขวา เท้าย่ำตามจังหวะ


เพื่อสามัคคีเอย

ย่ำเท้าโดยไม่เปลี่ยนท่า เมื่อปฏิบัติมือและเท้าสัมพันธ์กันดีแล้ว ก็จะเปลี่ยนลีลาการรำให้สวยงามยิ่งขึ้น ดังนี้ ตรงคำว่า “ เราเล่นเพื่อสนุก”ให้ฝ่ายหญิงหมุนตัวด้านซ้าย แล้วถอยห่างจากชายออกไปนอกวง (จะมองเห็นเป็น 2 วงซ้อน โดยชายอยู่วงใน หญิงอยู่วงนอก)ทั้งคู่เปลี่ยนมือจีบมาเป็นจีบทางขวา ตั้งวงซ้าย ต่างคนต่างเดินไปแทนที่กัน โดยฝ่ายหญิงจะเดินเข้าสู่วงใน ฝ่ายชายจะเดินออกสู่วงนอก เมื่อเดินถึงที่ จะพอดีกับเพลงที่ว่า “เปลื้องทุกข์วายระกำ ขอให้เล่นฟ้อนรำ” ให้ทั้งคู่กลับหลังหันทางด้านขวาของตนเอง

จึงค่อยผลัดจีบเป็นจีบมือซ้ายที่ชายพก มือขวา ตั้งวง แล้วทั้งคู่จึงเดินควงกันกลับเข้าที่เดิม


ตัวอย่าง


วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559



ประวัติรำวงมาตรฐาน



                    รำวงมาตรฐานเป็นการรำคู่  เกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายและหญิง  เป็นการรำที่ใช้กระบวนการใช้ร่างกายในการรำที่สมบูรณ์ มีการใช้ทุกอวัยยวะทุกส่วนของร่างกายในการรำอย่่างครบถ้วน จากที่กระผมได้เรียนรำวงมาตรฐานมาทำให้กระผมมีความชื่นชอบในการเรียนรำวงมาตรฐานมาก เพราะเพลงที่ใช้รำก็มีความอ่อนช้อย อ่อนหวาน และเป็นเพลงปลุกใจ สนุกสนาน มีด้วยกันทั้งหมด 10 เพลง รำแล้วมีความสนุกสนานกับคู่  และหมู่คณะในกลุ่มรำวงมาตรฐานด้วย


ชื่อเพลงและท่ารำ
1  งามแสงเดือน                  ชายและหญิง     สอดสร้อยมาลา 
2  ชาวไทย                         ชายและหญิง     ชักแป้งผัดหน้า 
3  รำมาซิมารำ                    ชายและหญิง     รำส่าย 
4  คืนเดือนหงาย                 ชายและหญิง      สอดสร้อยมาลาแปลง 
5  ดวงจันทร์วันเพ็ญ            ชายและหญิง      แขกเต้าเข้ารัง และผาลาเพียงไหล่ 
6  ดอกไม้ของชาติ              ชายและหญิง      รำยั่ว  
7  หญิงไทยใจงาม              ชายและหญิง      พรหมสี่หน้า และ  ยูงฟ้อนหาง 
8  ดวงจันทร์ขวัญฟ้า           ชายและหญิง      ช้างประสานงา และจันทร์ทรงกลด 
9  ยอดชายใจหาญ             ชาย - จ่อเพลิงกาล  หญิง - ชะนีร่ายไม้ 
10 บูชานักรบ                     ชาย - จันทร์ทรงกลด และขอแก้ว หญิง - ขัดจางนางและล่อแก้ว 

ตัวอย่าง 




*ขอบคุณที่มา rumwongmadtatan.blogspot.com

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

       
   ประวัติผู้จัดทำ


นางสาวณัฐฎา  สิงห์ปลอด
 "" แพร ""
รหัสนักศึกษา 3095571009
ระดับชั้นปริญญาตรีปีที่ 3